ดูบทความวิธีปกป้องผิวลูกน้อยจาก "แสงแดด"

วิธีปกป้องผิวลูกน้อยจาก "แสงแดด"

หมวดหมู่: บทความ

 

 

ผิวไหม้แดด (Sunburn) นั้นเกิดจากการที่ผิวได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) มากเกินไปค่ะ ผิวของลูกน้อยนั้นบอบบางและยังไม่แข็งแรง แม้ว่าคุณแม่จะป้องกันไว้เป็นอย่างดีแล้วแต่ผิวของลูกน้อยก็อาจไหม้แดดได้ และอาจเป็นเวลาที่ถูกแสงแดดเพียงแค่ 10-15 นาทีเท่านั้น ในวันที่ฟ้าครึ้มหรืออากาศเย็น คุณแม่อาจวางใจว่าไม่มีแสงแดด แต่รังสีUV ที่เรามองไม่เห็นนั้นสามารถทำอันตรายแก่ผิวได้ค่ะ ซึ่งอาการอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากผิวไหม้แดดได้แก่  อาการขาดน้ำอย่างรุนแรงและมีไข้ค่ะ

    

 

  +++ผิวไหม้แดดนั้นแบ่งความรุนแรงได้เป็น 3 ระดับค่ะ +++

 ระดับที่1 ผิวจะแดงและมีอาการปวดเล็กน้อย ซึ่งเมื่อเข้าร่มหลังจากโดนแดดใหม่ๆ คุณแม่จะยังไม่สังเกตเห็นความผิดปกติมากนัก เนื่องจากผิวจะแสดงอาการหลังจากนั้นประมาณ 1-2 ชั่วโมง

    

 ระดับ 2 ผิวแดง บวม เจ็บปวดเวลาถูกสัมผัส และอาจมีตุ่มน้ำพุพอง

    

 ระดับที่ 3 ซึ่งถือว่าอันตรายที่สุด ผิวอาจแตกและติดเชื้อได้

 

อย่างไรก็ตามมีทารกน้อยคนนะคะที่จะถูกปล่อยให้ผิวไหม้จนถึงระดับ 3 เพียงแค่ผิวไหม้ระดับ 2 ก็ถือว่ามากแล้วค่ะ

 

ถ้าลูกน้อยเป็นแผลไหม้แดดแต่ไม่รุนแรง ให้คุณแม่เอาผ้าชุบน้ำเย็น บิดน้ำออกให้หมาดๆ แล้ววางไว้บริเวณที่ผิวไหม้ประมาณ 10-15 นาที 2-3 ครั้ง/วัน แต่ก็ต้องระวังไม่ให้ลูกน้อยรู้สึกหนาวเกินไปนะคะ หรืออาจใช้วิธีอาบน้ำลูกด้วยน้ำเย็นผสมกับเบคกิ้งโซดา (ผงฟู) ก็ได้ค่ะ เพื่อช่วยให้ผิวลูกเย็นลงและช่วยลดอาการบวมแดง จากนั้นทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่มีส่วนผสมของน้ำให้ลูกน้อย และอย่าลืมให้ลูกน้อยดื่มน้ำมากๆ นะคะ ไม่ว่าจะเป็นนมแม่ นมชง หรือสำหรับเด็กที่โตหน่อยอาจให้ดื่มน้ำ ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำค่ะ แต่หากลูกน้อยมีอาการผิวไหม้แดดอย่างรุนแรงจนเป็นแผลพุพอง (ผิวไหม้แดดระดับ 2) คุณแม่ควรรีบปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำที่ถูกต้องในการ
รักษาค่ะ

    

วิธีปกป้องลูกน้อยที่ดีที่สุด  คือหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกแสงแดดโดยตรงค่ะ โดยเฉพาะตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็นซึ่งแดดแรงที่สุด แต่ถ้าหากจำเป็นต้องพาลูกน้อยออกไปข้างนอกในช่วงเวลาดังกล่าว คุณแม่ก็ควรให้ลูกสวมหมวก กางเกงที่เบาสบาย และเสื้อที่มีแขนยาว ซึ่งผ้าที่เนื้อแน่นจะช่วยปกป้องผิวได้ดีกว่าเนื้อผ้าที่โปร่งค่ะ (ทดสอบโดยการยกผ้าขึ้นส่องกับแสงแดด ผ้าที่แดดผ่านได้น้อยคือผ้าที่มีเนื้อแน่นกว่า) สวมแว่นกันแดด--ถ้าลูกน้อยยอมใส่ รวมทั้งกางร่มหรือใช้รถเข็นเด็กแบบมีที่บังแดดก็สามารถช่วยได้ค่ะ

     

 ในปี 1999 สมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (AAP) ไม่แนะนำให้ใช้ครีมกันแดดกับทารกที่อายุน้อยกว่า 6 เดือนเพราะผิวหนังทารกยังไม่สามารถสลายและขับสารเคมีได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ได้มีการประกาศใหม่ว่าสามารถทาครีมกันแดดให้ทารกที่อายุต่ำกว่า 6 เดือนได้หากเด็กคนนั้นไม่ได้สวมเสื้อผ้าหรือมีอุปกรณ์กันแดดเพียงพอ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง ซึ่งการทาครีมกันแดดให้ลูกนั้น ก็ไม่ควรทาจนหนาเกินไปนะคะ ทาแค่เพียงเล็กน้อยในบริเวณที่ถูกแดดก็เพียงพอแล้วค่ะ

สำหรับเด็กที่อายุมากกว่า 6 เดือน คุณแม่ควรเลือกใช้ครีมกันแดดชนิดกันน้ำสำหรับเด็กโดยเฉพาะและเป็นแบบ "Broad Spectrum" ซึ่งสามารถป้องกันได้ทั้งรังสียูวีเอ (UVA) และยูวีบี (UVB) ส่วนครีมกันแดดที่มีซิงค์อ็อกไซด์และไทเทเนียมไดอ็อกไซด์นั้นเหมาะสำหรับบริเวณที่บอบบาง เช่น จมูกหรือริมฝีปากค่ะ

AAP และสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งสหรัฐอเมริกา แนะนำว่าควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 เป็นอย่างน้อย (แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนแนะนำว่าสำหรับทารกแล้วควรใช้ SPF 30 ขึ้นไป) ควรทาครีมกันแดดอย่างน้อย 30 นาทีก่อนออกแดด และควรทาซ้ำอย่างน้อยทุกๆ 2 ชั่วโมงค่ะ โดยเฉพาะเมื่อลูกน้อยต้องทำกิจกรรมในน้ำหรือกิจกรรมที่มีเหงื่อออกมาก ถึงแม้ว่าครีมกันแดดที่ใช้นั้นจะเป็นชนิดกันน้ำแล้วก็ตาม

 

ที่สำคัญก่อนทาครีมกันแดดให้ลูก คุณแม่ควรทดสอบการแพ้ด้วยการทาครีมกันแดดเล็กน้อยที่หลังของลูกดูก่อนนะคะ หากผิวบริเวณที่ทาครีมกันแดดมีผื่นหรือบวมแดง ให้คุณแม่เปลี่ยนไปใช้สูตรสำหรับผิวแพ้ง่ายแทนค่ะ

 

ขอขอบคุณบทความ จาก

http://www.nestlebaby.com/th/parenting/family_life/when_baby_skin_dry/

 

02 สิงหาคม 2562

ผู้ชม 5142 ครั้ง